
เราได้โอกาสพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า “อยากเข้าใจว่าลูกคิด หรือต้องการอะไร” จึงนึกถึงกระบวนการ Reflection หรือการสะท้อนตัวเอง ที่ Know are เราใช้ในการสอนประสบการณ์ให้น้องๆ
สะท้อนคิด (Reflection) คืออะไร?
“การสะท้อนคิด” คือ การหันกลับไปมอง แล้วไตร่ตรองค่อยๆดูว่า
ในสิ่งที่เกิดขึ้น เรารับรู้อะไร มีความรู้สึก และความคิดกับเรื่องนั้นอย่างไร
การสะท้อนความคิด เป็นกระบวนการเหมือน “การส่องกระจก”
ที่เจ้าตัวจะเป็นคนบอกเองว่าเขาเห็นอะไร เลือกที่จะมองส่วนไหน และเขาคิดอย่างไร
การสะท้อนความคิดของลูกทำอย่างไรได้บ้าง ?
แนะนำให้เริ่มจากการ “ใช้คำถาม” ผมขอย่อยคำถามออกมาเป็น 3 คำถามสั้นๆ ติดเอาไว้ใช้กันครับ
1. ถามสิ่งที่เขารับรู้ (Perceptions)
เพราะแม้ว่าจะเป็นสถานที่เดียวกัน ภาพเดียวกัน
อุณหภูมิเท่ากัน หรือ อาหารจานเดียวกัน น้องๆ อาจจะเลือกสิ่งที่รับรู้ไม่เหมือนกัน
– หนูมองเห็นอะไรในภาพนี้
– กำลังมองอะไร
– ลูกว่ามันเป็นรสชาติยังไง
– ตอนนี้อากาศเป็นยังไงบ้าง
– หนูได้ยินว่าอะไร
– ลูกเข้าใจว่ายังไง
2. ถามความรู้สึก (Feelings)
– เห็นแบบนั้น แล้วหนูรู้สึกยังไง
– พอได้ยินเขาพูดแบบนั้นแล้วลูกรู้สึกยังไง
– เวลาที่เห็นคนฝ่าไฟแดง แล้วลูกรู้สึกยังไง
3. ถามความคิด (Thoughts)
– มันทำให้ลูกคิดว่าอะไร
– กำลังคิดว่าอะไรอยู่
– พอเขาโกรธ แล้วเราคิดว่าอะไร
– ลูกคิดว่าจะทำยังไงต่อ
– คิดว่ามันเกิดจากอะไร
4. สรุปและทวนความเข้าใจ (Summary and Paraphase)
อย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งที่เราฟัง เราเข้าใจถูกทั้งหมด ให้ทวนให้เขาฟัง แล้วถามว่า “..เข้าใจถูกไหม?”
– ตอนนี้ หนูต้องไปเข้าค่ายคนเดียว แล้วรู้สึกกังวล ว่าจะไม่มีเพื่อน แม่เข้าใจถูกไหม?
– ลูกโดนเพื่อนล้อว่ากางเกงขาดแล้วรู้สึกโกรธเพื่อน และรู้สึกว่าอาย ไม่กล้าไปโรงเรียน พ่อเข้าใจถูกไหม?
“ไม่เดาใจ แต่ให้เขาสะท้อน”
การที่ไม่ขัดหรือไม่แย้งสิ่งที่เขากำลังคิด
และทวนความให้เขาเห็นความคิดของเขาเอง
จะทำให้เขาคิดได้ลึกขึ้น ละเอียดมากขึ้น
“คิดได้ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น”
คำถามของเราที่ถามเขา
ช่วยเปิดโอกาสให้เขาได้ส่องกระจกที่สะท้อนความคิดตัวเอง
ทำให้ได้ทบทวนตรวจสอบความคิด
ยิ่งเขาเห็นความคิดตัวเองมากขึ้น
ก็จะทำให้เขาเป็นคนที่คิดวิเคราะห์ได้เก่งขึ้น
และกำกับตัวเองได้ดีขึ้น
การสะท้อนคิดจึงเป็นสิ่งที่โรงเรียนประสบการณ์ชีวิต เพื่อการค้นหาตัวเองของเราใช้กับน้องๆอยู่บ่อยๆเพื่อการเรียนรู้ ทั้งน้องเรียนรู้และเราได้เรียนรู้น้อง ทำให้สามารถพัฒนาได้จากสิ่งที่น้องเป็น
ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เขาเป็น
คุณพ่อคุณแม่สามารถสะท้อนความคิดกับน้องๆได้ทุกวันเลยนะครับ
รวมทั้งสามารถสะท้อนความคิดเราให้เขาฟังดังๆได้
เพื่อที่จะได้มองเห็นโลกใบเดียวกัน แบบไม่เดาใจ รู้ว่าลูกต้องการอะไรในชีวิต
เราและเขาก็จะเริ่มมองโลกด้วยสายตาของกันและกัน
เกิดความเข้าใจกันและกัน ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นด้วยครับ